สับปะรดปัตตาเวียปีนี้ คาดว่าให้ผลผลิต 1.380 ล้านตัน ด้านราคายังสดใส ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่ 44/2567  วันที่ 9 เมษายน 2567
สับปะรดปัตตาเวียปีนี้ คาดว่าให้ผลผลิต 1.380 ล้านตัน ด้านราคายังสดใส ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
             นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สับปะรดปัตตาเวีย ปี 2567 (ข้อมูล ณ มีนาคม 2567) คาดว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยว  370,812 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 341,163 ไร่ (เพิ่มขึ้น 29,649 ไร่ หรือร้อยละ 8.69) ให้ผลผลิต 1.380 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จำนวน 1.258 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 122,223 ตัน หรือร้อยละ 9.72) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว  3,722 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,687 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 35 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 0.95) โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากปี 2566 เนื่องจากปีที่แล้วเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน แต่ในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปรากฎการณ์เอลนิโญมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากนั้นจะมีสภาพเป็นกลางตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้ต้นสับปะรดสมบูรณ์และสามารถบังคับให้ออกผลได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ต้นสับปะรดที่สามารถบังคับให้ติดผลได้มีเพิ่มขึ้นผลสับปะรดมีขนาดใหญ่ ประกอบกับราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงดูแลรักษาดีขึ้น ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตต่อไร่ ทั้งนี้ สับปะรดปัตตาเวีย จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน และออกตลาดมากสุดในเดือนมิถุนายน
             ด้านราคาสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงานที่เกษตรกรขายได้ในช่วงนี้ พบว่าขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูปและตลาดต่างประเทศ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ราคาเฉลี่ยของสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงานที่เกษตรกรขายได้เท่ากับ 10.95 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 48.17 โดยราคาเฉลี่ยของสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงาน ที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมีนาคม 2567 ราคาอยู่ที่ 11.32 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ 4.33 ขณะที่การส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ ของไทยปี 2566 ลดลงจาก ปี 2565 ทั้งปริมาณและมูลค่า โดยปี 2566 ส่งออกเป็นสับปะรดกระป๋องมากที่สุด ปริมาณ 281,300 ตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 28.48 รองลงมาเป็นการส่งออกน้ำสับปะรด 37,847 ตัน ลดลงจาก 64,662 ในปี 2565 หรือลดลงร้อยละ 41.47 และการส่งออกสับปะรดผลสด 37,148 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 33,848 ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.75 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และรัสเซีย ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2567 การเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2566 ประกอบกับไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสับปะรดของไทยมากขึ้น จำเป็นต้องขยายตลาดส่งออกให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมวิจัย พัฒนา นวัตกรรม เพื่อแปรรูปให้หลากหลาย เพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้จากการผลิต และกระบวนการแปรรูป 
              นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เห็นชอบแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570  โดยแผนดังกล่าวได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน” มี 4 เป้าหมาย ได้แก่  1) พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ โดยระบบน้ำ GAP และปรับพื้นที่ตาม Agri-map เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ต่อปี  จนถึงปี 2570  2) ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี  3) มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรด เพิ่มขึ้นเป็น 25,530 ล้านบาท ในปี 2570 และ 4) รายได้ ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด เพิ่มขึ้นเป็น 422,070 บาท/ปี ในปี 2570 ขณะที่ประเด็นการพัฒนา มี 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และการบริหารจัดการระบบนิเวศสับปะรดที่มีคุณภาพ ทันสมัย และมาตรฐานการจัดการที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาสับปะรดไทยด้วยองค์ความรู้ วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปรับระบบการบริหารจัดการดิน น้ำ และการจัดการตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเทคโนโลยีการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงนวัตกรรม เช่น อาหารเพื่อสุขภาพจากผลผลิตสับปะรด โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Productivity) และ 3) การเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการเป็นผู้นำการส่งออกสับปะรดคุณภาพระดับโลก โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการตลาดต่างประเทศ และส่งเสริมด้านการตลาดภายในประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร และสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร